Site MapContact Us
Cart Buy Now or Call 0-2402-6117, 08-8258-3131
0-2402-8107, 08-8258-3535
Search

มาตรฐานการบัญชีไทย

    ท่านที่เป็นนักบัญชีคงได้ติดตามข่าวคราวการแก้ไขมาตรฐานการบัญชีของไทย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันขนานใหญ่
เรียกได้ว่าเป็นการ “ยกเครื่อง” ก็ว่าได้ อันที่จริงการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีในระยะหลังนี้มีการแก้ไขกันมาตลอด อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผมอยากกล่าวถึงการออกประกาศของสภาวิชาชีพบัญชี ฉบับที่ ๑๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เรื่อง การจัดเลขระบุฉบับมาตรฐานการบัญชีของไทยให้ตรงตามมาตรฐานการบัญชีระหว่าง ประเทศ เป็นจุดเริ่มต้น
 

      ที่เริ่มต้นจากประกาศฉบับนี้ เนื่องจากว่า การปรับปรุงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ทั้งหมดเกิด ขึ้นจากวิธีการออกมาตรฐานการบัญชีที่แม้จะใช้มาตรฐานการบัญชีสากลเป็นเกณฑ์ (ขอเรียกมาตรฐานการบัญชีสากลอย่างย่อๆว่า IAS ซึ่งมาจาก International Accounting Standard) แต่ไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่สามารถเปรียบเทียบกันหนึ่งต่อหนึ่งกับ IAS เนื่องจากเราแปลมาตรฐานการบัญชีสากลมาใช้โดยปรับแก้ ให้เป็นไปตามที่เราเห็น ว่าเหมาะสม จึงไม่อาจอ้างอิงกันแบบตัวต่อตัว บรรทัดต่อบรรทัด และหัวข้อก็ไม่ได้เรียง ลำดับสอดคล้องตรงกันกับ IAS และหมายเลขฉบับของมาตรฐานการบัญชีไทยก็ไม่ได้ เรียงลำดับตาม IAS
    
      เมื่อมีการจัดเลขระบุมาตรฐานการบัญชีของไทยใหม่ทั้งหมดให้ตรงกับ IAS ก็เท่ากับว่า ต่อแต่นี้ไปเราคงจะอ้างอิง IAS แบบ หนึ่งต่อหนึ่ง อะไรที่มาตรฐานการบัญชีสากล เปลี่ยนแปลงแก้ไข เราก็คงจะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน

      มาตรฐานการบัญชีสากลนั้น ประกอบขึ้นจากหลายๆส่วนตั้งแต่ Preface to International Financial Reporting Standards แม่บทการบัญชีที่เรียกว่า Framework for the Preparation and Presentation of Financial Statements และส่วน ที่เป็นมาตรฐานการบัญชีในเรื่องต่างๆตั้งแต่ IAS 1 ถึง IAS 41 ซึ่งเป็นมาตรฐานการบัญชีที่ออกมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 ถึงปี ค.ศ.2000 และ ออกโดย IASC: International Accounting Standards Committee

      ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่ออกมาตรฐานการบัญชีสากลจาก IAS เป็น IFRS หรือ International Financial Reporting Standards ดังนั้นมาตรฐานการบัญชีที่ออกมาหลังจากปี ค.ศ.2000 ก็จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า IFRS โดยปัจจุบันมีตั้งแต่ IFRS 1 ถึง IFRS 9 (ดูตารางประกอบ)

ตารางสรุปภาพรวมโดยสังเขปของมาตรฐานการบัญชีสากลและของไทย


 

      ทิศทางมาตรฐานการบัญชีไทยจึงคงเริ่มจาก TAS 1 ไปจนถึง TAS 41 และก็คงจะมี TFRS 1 ไปจนถึง TFRS 9 และอื่นๆ ที่จะออกตามมาในอนาคต

 นอกจาก IAS และ IFRS แล้วยังมีการออกแนวปฏิบัติทางการบัญชีในเรื่องต่าง ๆ 
ออกมา ที่จะช่วยขจัดความคลุมเคลือในมาตรฐานการบัญชีแต่ละฉบับ ที่ต้องเขียนขึ้น อย่างกว้างๆ แต่ครอบคลุมธุรกิจประเภทต่างๆ ละต้องประยุกต์ใช้กับกิจการที่หลากหลาย ทำให้ไม่สามารถระบุอะไรที่เฉพาะเจาะจงเกินไปลงในมาตรฐานการบัญชีได้ การออก แนวปฏิบัติจึงเข้ามาเติมช่องว่าง ในมาตรฐานการบัญชี โดยจะเป็นการระบุประเด็น และการ นำมาประยุกต์ใช้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อลดการตีความ เข้าข้างกิจการ และแนวทางปฏิบัติ ดังกล่าวก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรฐาน การบัญชี ที่นักบัญชี ต้องนำไปใช้ อ้างอิง ประกอบในลักษณะเดียวกัน กับมาตรฐานการบัญชี
 

     การที่เรานำมาตรฐานการบัญชีสากลมาแปลทั้งดุ้นนั้น มีทั้งข้อดีข้อเสียครับ แต่หากว่า ในท้ายที่สุดหากเราไม่มีทางที่จะออก มาตรฐานการบัญชีใดๆ ออกมาแล้วประเทศอื่น ทั้งโลกต้องเดินตามเราแล้ว ผมคิดว่าการเดินตามมาตรฐานการบัญชีสากลอย่างน้อย ก็ช่วยลดปัญหาที่เราประสบอยู่เดิม ได้ในหลายประเด็น เช่น
  • ในอดีตที่ผ่านมาเรามักจะออก มาตรฐานการบัญชีแบบรีๆรอๆ เพื่อขอดูทิศทางมาตรฐานการบัญชีสากล ทำให้เราพัฒนา  มาตรฐานการบัญชีของเราได้อย่างเชื่องช้า
  • ในทางปฏิบัติแม้ในอดีตเราจะ อ้างว่าเราไม่ได้แปลมาตรฐานการบัญชีสากลมาทั้งดุ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ ก็เป็นไปในแนวเดียวกัน กับมาตรฐานการบัญชีสากลมาตลอด แต่ปัญหาก็คือ เรานำมาครึ่งๆกลางๆ เสร็จแล้วเราก็อ้างอิงกับ IAS ได้อย่างยากลำบากเนื่องจากหมายเลขฉบับ การเรียงลำดับเนื้อหา ไม่สอดคล้องกัน
  • มาตรฐานการบัญชีเรื่องใด ที่เราไม่ได้นำมาจาก IAS ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐาน การบัญชีสากล ในกรณีที่การนำเสนอ งบการเงินต่อบุคคลที่ต้องการอ้างอิงหรือเชื่อถือในมาตรฐานการบัญชีสากล
  • เชื่อว่าหากเราอ้างอิงมาตรฐาน การบัญชีตาม IAS และ IFRS เต็มรูปแบบ ในอนาคตการประยุกต์ใช้มาตรฐานการบัญชี ในเรื่องใหม่ๆ น่าจะมีกิจการ ที่ประยุกต์ใช้ก่อนการบังคับใช้จริง (Early Adoption) มากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดี ต่อการจัดทำงบการเงิน ในภาพรวม
  • การศึกษาเนื้อหาสาระของ มาตรฐานการบัญชีไทยในอนาคต จะสามารถอ้างอิงมาตรฐานการบัญชีสากลที่เป็นฉบับ ภาษาอังกฤษ ทำให้การเข้าถึงข้อมูล เพื่อการทำความเข้าใจสะดวกขึ้น สามารถเข้าไปศึกษาทำความเข้าใจบทความ บทวิเคราะห์ ต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีที่มีอย่างมากมาย ในต่างประเทศ
  • การสื่อสารทำความเข้าใจ ประเด็นที่เปิดเผยในงบการเงินระหว่างนักบัญชีกับนักลงทุน หรือผู้ใช้งบการเงินที่เป็น ชาวต่างประเทศจะทำได้สะดวกมากขึ้น
  • ลดช่องว่างระหว่างนักบัญชีในประเทศไทยกับนักบัญชีประเทศอื่นๆ จะพูดภาษาบัญชีเดียวกันมากขึ้น
  • การติดตามแนวโน้มการใช้ มาตรฐานการบัญชีในเรื่องใหม่ๆของนักบัญชีสามารถทำได้ง่ายขึ้นและทราบถึงทิศ ทาง การบังคับใช้ ในเรื่องต่างๆ และคาดหมายได้ง่ายขึ้นว่าเราจะมีมาตรฐานการบัญชีใหม่ในเรื่องใดโดยติดตาม จากแนวโน้มของมาตรฐานการบัญชีสากล
ส่วนที่จะเป็นข้อเสียและอุปสรรคที่อาจพบได้แก่
  • มาตรฐานการบัญชีเดิมที่บังคับ ใช้ในประเทศไทยที่ไม่ได้อ้างอิงหรือเดินตามแนวของมาตรฐานการบัญชีสากล ที่มีความแตกต่างในหลักการเป็นอย่างมาก เช่น การรับรู้รายได้ของกิจการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบ้านเรายึดตามแนว FAS (Financial Accounting Standard) ของสหรัฐอเมริกา หากเปลี่ยนแปลง ไปยึดตามแนวของ IAS จะต้องปรับงบการเงิน ที่ทำให้ผลการดำเนินงานผันผวนอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เคยทยอยรับรู้รายได้ ตามอัตราส่วนของงาน ที่ทำเสร็จไปเป็นรับรู้เมื่อมีความแน่นอน ในการโอนอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ซื้อ หรือเมื่อความเสี่ยงและผลประโยชน์นั้น โอนไปยังผู้ซื้อแล้วทั้งหมดอย่างแท้จริง
  • ต้อง “ยกเครื่อง” มาตรฐานการบัญชีไทยเดิมทั้งหมด เกิดต้นทุนในการศึกษา ทำความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน การบัญชีไทยทั้งระบบ
  • กิจการแต่ละแห่งมีความพร้อมในการปรับตัวไม่เท่ากัน เกิดความเหลื่อมล้ำในกิจการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูงกว่า กิจการขนาดเล็ก
  • อาจก่อให้เกิดผลในแง่ การบังคับใช้มาตรฐานการบัญชีที่มากเกินความจำเป็น (Accounting Standard Overload) โดยเฉพาะ กับกิจการขนาดกลาง และขนาดเล็กที่เนื้อหาและกิจกรรมทางธุรกิจไม่ซับซ้อน แต่ต้องมาทำความเข้าใจ กับมาตรฐานการบัญชีฉบับเดียวกับกิจการขนาดใหญ่ ที่มาตรฐานการบัญชีต้องครอบคลุมประเด็นและกรณีต่างๆ อย่างซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตว่า IAS มีการออกมาตรฐานการบัญชี สำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ International Financial Reporting Standard for Small and Medium-sized Entities
  • ความเหมาะสมของมาตรฐานการบัญชีสากลต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของบ้านเรา หากนำมาตรฐานสากลมาบังคับใช้ บ้านเราจะมีปัญหาใดตามมาหรือไม่


ที่มา : วิโรจน์ เฉลิมรัตนา ข้อมูลเพิ่มเติม
Company
News