ส่วนลดการค้าและส่วนลดเงินสด
ส่วนลด (Discount) หมายถึง จำนวนเงินที่ผู้ขายยอมลดให้กับผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ขาย ในการจูงใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า หรือจูงใจให้
ผู้ซื้อสินค้าปริมาณมาก หรือเพื่อจูงใจให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อมาชำระหนี้เร็วขึ้น
ในการดำเนินธุรกิจซื้อ-ขายสินค้านั้น มักจะให้ส่วนลดแก่ผู้ซื้อใน 2 ลักษณะคือ
1. ส่วนลดการค้า (Trade Discount)
ส่วนลดการค้าเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน ทำให้
ผู้ขายพยายามจูงใจลูกค้าเพื่อให้ซื้อสินค้าของตนโดยการให้ส่วนลดทันทีที่ซื้อสินค้าจากราคาที่ตั้งไว้ (Price list) และสิ่งที่สำคัญของส่วนลดการค้าคือ ไม่มีการบันทึกบัญชีในส่วนที่เป็นส่วนลด จะบันทึกบัญชีซื้อสินค้าตามจำนวนเงินที่หลังหักส่วนลดการค้าแล้ว
2. ส่วนลดเงินสด (Cash Discount)
ส่วนลดเงินสด หมายถึง ส่วนลดที่เจ้าหนี้ยอมลดให้แก่ลูกหนี้เมื่อลูกหนี้นำเงินสดมาชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ วัตถุประสงค์ของการให้ส่วนลดเงินสดเพื่อต้องการจูงใจให้ลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้ให้เร็วขึ้น
ส่วนลดเงินสด จะมีความเกี่ยวข้องกับ "เงื่อนไขการชำระเงิน" (Terms of payments) โดยปกติจะระบุไว้ใน
ใบกำกับสินค้า เช่น
2/10, N/30 หมายความว่า ถ้าชำระหนี้ค่าสินค้าที่ซื้อเป็นเงินเชื่อภายใน 10 วัน
จะได้รับส่วนลด 2% ของหนี้ที่ชำระ แต่อย่างไรต้องชำระหนี้ภายใน
30 วัน
2/EOM, N/60 หมายความว่า ถ้าชำระภายในสิ้นเดือนที่มีการซื้อสินค้านั้น จะได้รับ
ส่วนลด 2% แต่จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 60 วัน (EOM ย่อมาจาก
End of Month)
2/10 EOM, N/60 หมายความว่า ถ้าชำระหนี้ไม่เกินวันที่ 10 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการ
ซื้อสินค้า จะได้รับส่วนลด 2% ของหนี้ที่ชำระ แต่จะต้องชำระหนี้
ภายใน 60 วัน
การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับส่วนลดเงินสด จะต้องบันทึกทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ขายดังนี้
2.1 ส่วนลดรับ (Purchase discount) เกิดขึ้นเมื่อกิจการซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ และชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่ได้รับส่วนลด เป็นการบันทึกบัญชีด้านผู้ซื้อ
2.2 ส่วนลดจ่าย (Sale discount) เกิดจากกิจการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ และได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ภายในระยะเวลาที่กิจการกำหนดจะให้ส่วนลดแก่ลูกหนี้ เป็นการบันทึกบัญชีด้านผู้ขาย
|